นกแต้วแล้วท้องดำ


นกแต้วแล้วท้องดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pitta gurneyi 


          นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ (อังกฤษ: Gurney's Pitta, ชื่อวิทยาศาสตร์: Pitta gurneyi) เป็นนกที่พบในพม่าและไทย ปัจจุบันพบได้ที่ เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และบางส่วนในประเทศพม่า 
           นกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี พ.ศ. 2457 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ถูกค้นพบในประเทศไทยโดย Assoc. Prof. Philip D. Round และ อุทัย ตรีสุคนธ์ โดยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่เท่านั้น จึงถูกให้เป็นสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่ง IUCN เคยประเมินสถานภาพให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในประเทศพม่ามากขึ้น ในปี พ.ศ. 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็นใกล้สูญพันธุ์(EN) 
            นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแร้ว (Pitta sp.) 12 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22เซนติเมตร ตัวผู้หัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องมีแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น 
              อาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ 
              หากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนดินขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน 
              นกตัวผู้จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า "ท-รับ" แต่ถ้าตกใจจะร้องเสียงว่า "แต้ว แต้ว" เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดังว่า "ฮุ ฮุ" 
                มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สมัน

เก้งหม้อ

ควายป่า